การสร้างความประทับใจครั้งแรก

 
 
 



ว่ากันว่าภาษากายสามารถสื่อสารอารมณ์และความรู้สึกได้ดีที่สุด ตามมาด้วยน้ำเสียง และสุดท้ายจากความหมายของคำพูด สิ่งเหล่านี้เป็นความจริงอย่างยิ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสัมภาษณ์งาน ซึ่งเพียงแค่สองถึงสามนาทีที่ได้ใช้เวลาอยู่กับผู้สัมภาษณ์ก็เป็นช่วงเวลาสำคัญที่สามารถชี้ชะตาได้ว่าจะสำเร็จหรือล้มหลวในการสัมภาษณ์งานครั้งนั้น ดังนั้นการสร้างความประทับใจในครั้งแรกนั้นจำเป็นมาก และนี่คือวิธีการสร้างความประทับใจตั้งแต่แรกพบ
ข้อแรกคือการตรงต่อเวลา

คุณอาจต้องโบกมือลางานที่ต้องการไปหากมาสัมภาษณ์สาย เสื้อผ้าเปียกโชก หรือผมเผ้ายุ่งเหยิง ควรจะเผื่อเวลาไว้สำหรับการจราจร การหาที่จอดรถ สภาพอากาศ และการรอลิฟท์ด้วย อย่างไรก็ตาม หากไปถึงสถานที่นัดหมายก่อนเวลา 15-20 นาที ควรสำรวจความเรียบร้อยของตัวเอง หรือนั่งพักสักครู่เพื่อรวบรวมสมาธิก่อน อย่าเพิ่งรีบเข้าไปแจ้งว่าคุณมาถึงแล้ว เพราะนั่นอาจเป็นการกดดดันผู้สัมภาษณ์ด้วย

แต่งกายให้เรียบร้อยและเหมาะสม

เสื้อผ้าที่สวมใส่ควรสะอาด เรียบร้อย ไม่ยับย่น รองเท้าหนังควรขัดให้มันเงา หากไม่แน่ใจว่าบริษัทที่ไปสัมภาษณ์ต้องการให้แต่งกายแบบใด ควรเลือกใส่ชุดที่เรียบร้อย ไม่ออกแบบหวือหวาเกินไป หรือถ้าไม่แน่ใจควรโทรศัพท์ไปสอบถามที่ฝ่ายบุคคลก่อนก็จะเป็นการดี

ปฏิบัติตนแค่พอประมาณ

การควบคุมให้ทุกอย่างอยู่ในความพอดีจะเป็นผลดีมากกว่า เมื่อถึงเวลาสัมภาษณ์งาน สิ่งที่มากเกินไป ไม่สำคัญเท่ากับ ดีอย่างไร และการปฏิบัติที่มากหรือน้อยเกินไป อาจสร้างความรำคาญให้กับผู้สัมภาษณ์ด้วย สิ่งที่ควรระวังคือ

  • แต่งหน้าให้พอดีไม่มากเกินไป หลีกเลี่ยงเครื่องประดับที่เยอะเกินไปและน้ำหอมที่มีกลิ่นฉุนจนเกินไป
  • หลีกเลี่ยงทรงผมที่ล้ำสมัยมากเกินไป
  • หลีกเลี่ยงการแสดงท่าทางที่มากเกินพอดี
  • ใช้กิริยาที่สุภาพเรียบร้อย ตรงไปตรงมา
ใช้ท่าทีที่เป็นมิตรและมีความมั่นใจ

ดูเหมือนจะไม่ยุติธรรมสักเท่าไรนัก ที่จะตัดสินคนจากการพบกันเพียงแค่เวลาสั้นๆ แต่ก็เป็นความจริงที่ว่า 80% ของการตัดสินใจจ้างเกิดขึ้นจากบุคลิกภาพของผู้สมัคร และมีเพียง 20% เท่านั้น ที่มาจากทักษะความสามารถ ทีมงานจ็อบสตรีทจึงขอแนะนำการสร้างท่าทีที่เป็นมิตรดังนี้คือ

  • จับมือทักทายด้วยความกระชับมั่นใจ และไม่ควรจับมือขณะที่มือเปียก
  • สบตาผู้สัมภาษณ์ขณะพูดคุย แต่ควรระวังอย่าสบตาติดต่อกันเกินกว่า 10 วินาที เพราะจะดูเป็นการจ้อง ในขณะเดียวกันต้องระวังสายตาไม่ให้จับจ้องไปส่วนอื่น เช่น ศีรษะที่ล้าน หรือไฝเม็ดโตบนแก้มของผู้สัมภาษณ์
  • นั่งหรือยืนหลังตรงเสมอ และเคลื่อนไหวด้วยความมั่นใจ เมื่อได้รับเชิญให้นั่งลงก็ควรนั่งด้วยความมั่นคง ไม่ควรนั่งแบบกระแทกแรงๆ
  • หัดตั้งคำถาม อย่าตอบรับหรือพยักหน้าเห็นด้วยกับทุกสิ่งที่ผู้สัมภาษณ์พูดหรือถาม แต่ควรพิจารณาให้ลึกซึ้งถึงสิ่งที่ผู้สัมภาษณ์กำลังกล่าวถึง หรือสอบถามถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับรายละเอียดงาน เพื่อให้การสนทนาเป็นไปอย่างราบรื่น
  • ฟังอย่างตั้งใจ แสดงท่าทีสนใจในสิ่งที่กำลังสนทนา รวมทั้งพูดจาโต้ตอบให้ชัดเจนแต่สุภาพ
  • เจรจาอย่างมีชั้นเชิง ไม่ควรพาดพิงถึงที่ทำงานเก่า เพื่อนร่วมงาน หรือ นายจ้างในทางที่เสียหาย
ก่อนเข้ารับการสัมภาษณ์ ควรฝึกซ้อมการสัมภาษณ์กับคนในครอบครัว เพื่อน หรือซ้อมหน้ากระจก เพื่อดูว่าการพูดของเราเป็นไปด้วยดีหรือไม่ เช่น น้ำเสียงที่ใช้ การเปล่งคำพูด เร็วหรือช้าเกินไปหรือไม่ หรือมีการเว้นจังหวะการพูดที่นานไปหรือไม่ เป็นต้น นอกจากนี้ การอ่านออกเสียงก็สามารถช่วยพัฒนาทักษะการพูดได้เช่นเดียวกัน

ที่สำคัญคือการคิดในแง่บวกและเชื่อมั่นในตัวเอง เพราะหากแม้แต่ตนเองยังไม่เชื่อมั่นว่าสิ่งที่มีสามารถนำพาไปสู่ความสำเร็จแล้ว เราจะสามารถทำให้นายจ้างเชื่อมั่นในการจ้างงานเราได้อย่างไร



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ข้อความ